สำหรับ "4 สิ่งที่ควรรู้" นั้นประกอบไปด้วย ข้อมูลจำเป็นสำหรับการตรวจสอบสภาพรถยนต์รวมถึงสิ่งแวดล้อมในการตัดสินใจต่างๆ
น้ำท่วมสูงแค่ไหน ไม่ควรไป ? สิ่งแรกที่จำเป็นต้องรู้นั่นคือระดับความสูงของน้ำที่ท่วม สูงมากน้อยแค่ไหน และน้ำที่ท่วมเป็นน้ำไหลหลาก หรือน้ำนิ่ง การพิจารณาจะเริ่มจากการคะเนความสูงของน้ำ หากความสูงของน้ำ มีความสูงมากกว่า 15 - 30 เซนติเมตร แนะนำว่าให้หยุดรถทันที เพราะที่ระดับความสูงดังกล่าว น้ำมีความเสี่ยงที่จะไหลเข้ามาที่ห้องโดยสารผ่านขอบยางประตูที่เสื่อมสภาพ และอาจไหลเข้าเครื่องยนต์ย้อนทางผ่านท่อไอเสีย
หากรถดับตอนน้ำท่วมควรทำอย่างไร ? หากรถยนต์ของท่านดับ เราแนะนำว่าไม่ควรรีบสตาร์ทเครื่องใหม่ เนื่องจากไม่รู้สาเหตุของการดับ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เกิดจากการลัดวงจรของตัวควบคุมในรถยนต์ หรืออาจจะเกิดจากการที่น้ำไหลย้อนเข้าเครื่องยนต์ หากเป็นกรณีที่ 2 การสตาร์ทเครื่องใหม่จะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยา Hydro-Lock ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายถึงขั้นเครื่องยนต์แตกเลยก็เป็นได้
หลังน้ำท่วมควรเช็ครถอะไรบ้าง ? ระบบเบรค - เมื่อรถแช่น้ำที่มีความสูงมาเป็นเวลานาน เบรคจะจะชุ่มน้ำและสูญเสียความเสียดทานไป ลองตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบเบรค ระบบเครื่องยนต์ - เมื่อรถลุยน้ำมาเป็นเวลานาน เป็นไปได้ว่าน้ำอาจไหลเข้ามาที่ส่วนของเครื่องยนต์ จึงควรตรวจสอบระบบเครื่องยนต์โดยการลองฟังเสียงการทำงานเครื่องยนต์ว่ายังปกติอยู่ไหม ตรวจสอบสภาพรถยนต์ - หากรถยนต์ของคุณเพิ่งลุยน้ำมาใหม่ๆ ก็ควรตรวจสอบสภาพโดยรอบ ทั้งตัวรถยนต์รวมถึงยางล้อรถยนต์ ว่ามีเศษตะปูหรือกิ่งไม้มาทิ่มอยู่หรือไม่
หากต้องทิ้งรถแช่น้ำควรทำอย่างไร ? หากมีความจำเป็นต้องทิ้งรถให้แช่น้ำไว้จริงๆ ควรหาอะไรมาหนุนล้อฝั่งที่เป็นเครื่องยนต์ เพื่อให้เครื่องยนต์มีความสูงอยู่เหนือน้ำไว้ เพื่อรักษาส่วนสำคัญที่สุดของรถยนต์ (รถยนต์ญี่ปุ่นส่วนมากให้หนุนที่ล้อหน้า และรถยนต์ที่มีการวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหลังก็ให้หนุนที่ล้อหลัง)
สำหรับ "6 สิ่งที่ควรปฏิบัติ" นั้นประกอบไปด้วย "4 เทคนิค" ที่จำเป็นในการปฏิบัติเมื่อต้องขับรถลุยน้ำตั้งแต่ความสูงของน้ำระดับ 15 - 30 เซนติเมตรขึ้นไป และอีก "2 ข้อควรรู้" เมื่อขับพ้นระยะลุยน้ำแล้ว
"ปิดแอร์" เนื่องจากการเปิดแอร์จะทำให้พัดลมหน้าเครื่องยนต์ทำงาน และอาจทำให้เกิดการลัดวงจร หรือใบพัดตีน้ำเข้าเครื่องยนต์ได้
"ใช้เกียร์ต่ำ" เนื่องจากล้อรถยนต์ไม่สามารถเกาะพื้นผิวถนนได้ดีเท่าที่ควร การใช้ความเร็วต่ำจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางแรงเสียดทานให้กับตัวรถ
"ขับช้าๆ แต่คงที่" เนื่องจากการใช้ความเร็วน้ำจะกระแทกเข้าฟุตบาท และสะท้อนกลับใส่ตัวรถจนเกิดการเสียหลักได้
"รักษาระยะห่างคันหน้า" เนื่องจากเพื่อช่วยลดภาระต่างๆที่เครื่องยนต์ต้องรับในการทำงานในสภาวะที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับ และรักษาทัศนวิสัยให้สามารถวิ่งบนถนนโดยไม่ตกถนน
"เหยียบเบรคย้ำๆ" เนื่องจากเมื่อรถแช่น้ำมานานๆ ผ้าเบรคจะซับน้ำเอาไว้ และจะทำให้ประสิทธิภาพในการเบรคลดต่ำลงเป็นอย่างมาก ให้ขับด้วยรอบเดินต่ำและเหยียบเบรคเป็นช่วงๆเพื่อให้เบรครีดน้ำออก ทำไปเรื่อยๆจนกระทั่งผู้ขับรับรู้ได้ว่าเบรคเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว
"ห้ามดับเครื่องทันที" การดับเครื่องทันทีอาจส่งผลให้น้ำไหลย้อนกลับเข้าเครื่องยนต์ผ่านท่อไอเสีย และส่วนหน้าของห้องเครื่อง ส่งผลให้เครื่องยนต์ได้รับความเสียหายตามมานั่นเอง
ขอขอบคุณสาระดีๆจาก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Commenti