ข้าวจัดว่าเป็นอาหารที่สำคัญของคนทั่วโลกมาอย่างช้านานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทยก็รับประทานข้าวกันทั่วไปเรียกได้ว่าเป็นอาหารหลักกันเลยทีเดียว อ้างอิงจากสถิติสากลของการบริโภคข้าวของคนไทยนั้นในยุคปัจจุบันก็ยังคงติดอันดับต้นๆของโลกอยู่ แต่รู้หรือไม่ว่า ข้าวที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้มีหลากหลายชนิดและสายพันธุ์แยกย่อยที่แตกต่างกันมากมาย ถึงขนาดที่บางคนรับประทานเข้าไปยังไม่รู้เลยว่านี่คือข้าวชนิดไหน และให้สรรพคุณใดที่แตกต่างกัน
โดยเราแบ่งชนิดข้าวที่มีอยู่ในประเทศไทยออกเป็น 4 ชนิดใหญ่ๆ และในแต่ละชนิดก็จะมีสายพันธุ์ย่อยแยกแขนงออกไปอีก
1. ข้าวหอมมะลิ
ข้าวหอมมะลิในประเทศไทยนั้น หลักๆแล้วมีที่รับประทานกันทั่วไป 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้
ข้าวหอมมะลิ 105 เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกที่อื่นได้ไม่ดีเท่ากับปลูกในไทย และเป็นพันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลก ได้ยินชื่อเสียงพร้อมรหัสตัวเลขแบบนี้กันเข้าไป ก็คงจะสงสัยกันไม่ใช่น้อยใช่ไหมว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจึงมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลขนาดนั้น
ขอเล่าประวัติคร่าวๆ ดังนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2497 นายสุนทร สีหเนิน พนักงานข้าว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวหอมในเขตอำเภอบางคล้า ได้จำนวน 199 รวงแล้ว ดร.ครุย บุณยสิงห์ (ผู้อำนวยการกองบำรุงพันธุ์ข้าวในขณะนั้น) ได้ส่งไปปลูกคัดพันธุ์บริสุทธิ์และเปรียบเทียบพันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง (ขณะนี้เป็นสถานีข้าวลพบุรี) ดำเนินการคัดพันธุ์โดยนักวิชาการเกษตรชื่อนายมังกร จูมทอง ภายใต้การดูและของนายโอภาส พลศิลป์ หัวหน้าสถานีทดลองข้าวโคกสำโรงจนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 ได้พันธุ์บริสุทธิ์ข้าวขาวหอมมะลิ 4-2-105 (หมายเลข 4 หมายถึงอำเภอที่เก็บมาอำเภอบางคล้า หมายเลข 2 หมายถึง ชื่อพันธุ์ข้าวที่เก็บในอำเภอนั้น คือ พันธุ์หอมมะลิ และ หมายเลข 105 คือ ตำแหน่งรวงข้าวของพันธุ์หอมมะลิที่เก็บในที่นั้น รวงที่ 105) และคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ ข้าวได้อนุมัติให้เป็นพันธุ์ส่งเสริมแก่เกษตรกร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 โดยเกษตรกรทั่วไปเรียกว่า “ขาวหอมมะลิ 105 ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวหอมมะลิ 105 จนได้ข้าวพันธุ์ กข 15 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ ข้าวทั้ง 2 พันธุ์เป็นข้าวหอมมะลิไทย
ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นข้าวพันธุ์ที่มีแหล่งปลูกข้าว ณ ที่ราบอันมีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก มีชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” เมล็ดข้าวจะมีลักษณะเรียวยาว ไม่มีหางข้าว เมื่อผ่านการสีแล้ว จะมีความเลื่อมมัน จมูกข้าวเล็ก เมื่อหุงแล้วจะมีกลิ่นหอมและนุ่ม
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งใหญ่ของภาคอีสาน มีพื้นที่อยู่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และ จังหวัดสุรินทร์ จำนวนพื้นที่ทั้งสิ้น 2,107,690 ไร่ เดิมมีชื่อว่า ทุ่งหมาหลง หรือ ทุ่งปู่หลาน ที่ได้ชื่อ “ทุ่งกุลาร้องไห้” นั้นมีตำนานกล่าวว่า มีพ่อค้าชาวกุลาเดินเร่ขายสินค้าผ่านเข้ามาในทุ่งกว้างแห่งนี้จนเมื่อล้ายังไม่พ้นทุ่งกว้างแห่งนี้สักที ทุ่งนี้จึงมีชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้”
พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแอ่งขนาดใหญ่ เป็นดินร่วมปนทราย ในดินมีโซเดียมและซิลิก้ามีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ลักษณะสภาพภูมิประเทศมีความเค็มในดิน ความแห้งแล้งของพื้นที่ สภาพอากาศธาตุ อาหารในดิน ส่งผลให้เกิดความเครียดและหลั่งสารหอม 2AP ทำให้ข้าวหอมมะลิในแหล่งนี้หอมมากกว่าข้าวหอมมะลิแห่งอื่นๆ
2. ข้าวขาว
ข้าวเหลืองประทิวชุมพร เป็นข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมของอำเภอปะทิว จ.ชุมพร เป็นข้าวพันธุ์หนักในฤดูนาปี เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคม มีจำนวนเม็ดต่อรวงจำนวนมาก และปลูกในที่ที่เป็นดินเปรี้ยวได้ดี อีกทั้งยังทนต่อโรคของแมลงได้ด้วย ลักษณะเมล็ดมีสีเหลือง เลื่อมมัน เมล็ดยาว มีน้ำหนักเมล็ดที่ดี เมื่อนำไปหุงแล้วข้าวขึ้นหม้อ จึงเป็นข้าวที่ชาวนาชุมพรมักนิยมปลูก เพราะปลูกง่าย ได้ผลผลิตที่ดี เหมาะกับพื้นที่และสภาพอากาศ
ข้าวเหลืองประทิวชุมพรถือเป็นข้าวพนุ์บริสุทธิ์พันธุ์หนึ่ง ลำต้นและใบมีสีเขียว ต้นสูง ใบกว้างและยาว คอรวงยาว เมล็ดรูปร่างเรียว ข้าวเปลือกจะมีสีฟาง หากเป็นข้าวกล้องจะมีสีเหลืองอ่อน ยาวเรียว ถือเป็นข้าวที่หุงสุกเร็ว แข็ง และร่วน แต่ไม่จับตัวเป็นก้อน เหมาะกับการรับกระทานกับกับข้าวราดแกง
ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพดีของอำเภอเสาไห้ จ.สระบุรี ที่มาของชื่อมาจากชื่อผู้นำสายพันธุ์ข้าวพันธุ์นี้เข้ามาในพื้นที่ คือพ่อค้าชาวไทยเชื้อสายจีน ชื่อ “เจ๊กเชย” ซึ่งข้าวสายพันธุ์นี้มีชื่อเสียงมายาวนานตั้งแต่ต้นรัชสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นข้าวที่หุงขึ้นหม้อ ไม่แข็งกระด้าง ที่สำคัญไม่บูดง่าย และไม่ยุบตัวเมื่อราดแกง สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้นและขนมได้ดี
จังหวัดสระบุรีมีประวัติการปลูกข้าวมาเป็ฯเวลายาวนานเพราะเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ในพื้นที่ภาพกลาง ที่ได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นเพื่อรวบีวมเสบียงอาหารและเป็นยุ้งฉางเก็บไว้คราวศึกสงคราม ตั้งแต่ราวปี 2125 ชุมชนในพื้นที่ประกอบอาชีพทำนา รับจ้างและค้าขาย อำเภอเสาไห้ เป็นแหล่งเศรษฐกิจใหญ่ของจังหวัดสระบุรี เป็นชุมชนการค้าขายสินค้าเกษตรต่างๆ จากพื้นที่ที่ได้รับน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก ข้าวเจ๊กเชยนำมาปลูกในพื้นที่อำเภอเสาไห้ จากการที่ชาวบ้านนำข้าวมาแลกสินค้า ได้แก่ เกลือ กะปิ น้ำปลา หอม กระเทียม ที่บริเวณท่าเจ๊กเฮง พ่อค้าคนจีนที่มีน้องชาย ชื่อเจ๊กเชยคอยควบคุมดูแลการแลกสินค้า และสนใจข้าวพันธุ์ก้นจุด จึงแนะนำให้ชาวนานำไปปลูกขยายผลผลิตแล้วนำมาแลกสินค้ากับเจ๊กเชย ต่อมาชาวนาจึงเรียกข้าวพันธุ์นี้ว่า “ข้าวเจ๊กเชย” จนเป็นที่รู้จักจากปากต่อปาก พ่อค้าเรือหลายคนนำสินค้าข้าวนี้ไปขายถึงอยุธยา เป็นข้าวหุงขึ้นหม้อ รสชาติดีไม่ออ่น ไม่แข็งจนเกินไป เก็บไว้ค้างคืนไม่บูด
3. ข้าวเหนียว
ข้าวเหนียวพันธุ์ กข. 6 ข้าวพันธุ์มีลักษณะเมล็ดยาวเรียว มีเปลือกสีน้ำตาล เมล็ดมีขนสั้น เป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียวหอม ไวต่อช่วงแสง เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มาจากข้าวเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เมื่อนำไปหุงแล้วข้าวจะนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนแล้ง และมีคุณภาพการหุงต้มรับประทานดี เป็นข้าวเหนียวที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่นิยมปลูกกันแพร่หลายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธ์ุ เป็นข้าวเหนียวที่ปลูกในพื้นที่อำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ (เฉพาะตำบลนาโท และตำบลหนองห้าง) และกิ่งอำเภอนาคู (เฉพาะตำบลนาคูและตำบลบ่อแก้ว) จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแคลเซียมและซิลิกอนสูง อากาศเย็นแห้งน้ำน้อย ส่งผลให้ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์มีความนุ่มและหอมมาก เมื่อนึ่งสุกจะหอมและนุ่ม ไม่แฉะติดมือ และข้าวที่นึ่งแล้วเมื่อเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดหลายชั่วโมง จนข้าวเย็นยังคงรักษาความอ่อนนุ่มไว้ได้
ข้าวเหนียวเขี้ยวงู เป็นข้าวที่มีเม็ดเรียวยาว สีขาว และทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี เมื่อนำมาหุงให้สุกเม็ดข้าวที่ได้จะเหนียวนุ่ม เรียงตัวสวยไม่เละ มีสีขาวในลักษณะเลื่อมเป็นมันและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพดีและเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาทำข้าวเหนียวมูน เป็นข้าวที่ปลูกในทางภาคเหนือ นิยมปลูกกันมากในจังหวัดเชียงราย
ข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำ เมล็ดข้าวมีสีม่วงดำ และเมล็ดค่อนข้างแข็ง เคี้ยวละเอียดยากกว่า แต่นิยมนำมาทำเป็นขนมหวานมากกว่าข้าวอื่น ๆ และเป็นข้าวที่ชาวนายกย่องให้เป็นพญาข้าวเหนือข้าวพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งชาวนามีความเชื่อว่าข้าวก่ำจะปกป้องคุ้มครองข้าวพันธุ์อื่นที่อยู่ในท้องนาไม่ให้ถูกแมลงกัดกิน ทำให้ผลผลิตในการเก็บเกี่ยวข้าวได้ผลดี ข้าวก่ำยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล และยับยั้งการเจริญเติบโตของโรคมะเร็ง
4. ข้าวเพื่อสุขภาพ
ข้าวกล้อง
หรือที่บางคนเรียกกันติดปากว่า ข้าวซ้อมมือหรือข้าวแดง เนื่องจากในสมัยโบราณ ชาวบ้านใช้วิธีตำข้าวกินกันเอง จึงเรียกว่า ข้าวซ้อมมือ แต่ปัจจุบันเราใช้เครื่องจักรสีข้าวแทน จึงเรียกข้าวที่สีเอาเปลือกออกนี้ว่า ข้าวกล้อง โดยข้าวกล้องนั้นจะต้องมีส่วนของจมูกข้าวและรำข้าวติดอยู่ด้วยเสมอ ข้าวกล้องมีเส้นใยสูงมากกว่าข้าวขาว 3 - 7 เท่า การกินข้าวกล้องจะได้เส้นใยไปพร้อม ๆ กับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสารพัดชนิด และเส้นใยในข้าวกล้องยังทำให้รู้สึกอิ่มนานกว่าการกินข้าวขาวและไม่อยากกินจุบจิก
ข้าวไรซ์เบอร์รี เป็นผลงานการปรับปรุงสายพันธุ์ของ รศ.ดร.อภิชาติ และทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และความร่วมมือจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ + ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งพันธุ์ข้าวนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ มีลักษณะเรียวยาว ผิวมันวาว เป็นข้าวเจ้าที่มีสีม่วงเข้มคล้ายกับลูกเบอร์รีที่มีสีม่วงเข้มเมื่อสุก มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังมีรสชาติหอมมัน เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม เนื่องจากผ่านการขัดสีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ข้าวสายพันธุ์พิเศษสีม่วงนี้สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
ข้าวมันปู เป็นข้าวที่ชาวจีนเรียกว่า ข้าวแดง หรือชื่อพื้นเมืองเรียกว่า อั้งคั่ก มีลักษณะเยื่อหุ้มเปลือกข้าวเป็นสีแดงแบบสีมันปู จัดเป็นข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือชนิดหนึ่ง มีไขมันในปริมาณเดียวกับข้าวกล้อง ซึ่งสูงกว่าข้าวขัดสีประมาณสองเท่า มีสารที่เรียกว่าเคโรทีนที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกายสูงกว่าข้าวขัดสี เมื่อหุงสุกแล้วเนื้อข้าวจะเป็นสีชมพูอ่อน มีกลิ่นหอม เมล็ดนุ่มสวย ไม่แฉะ ดูน่ารับประทาน ใช้ประกอบอาหารต่าง ๆ ได้อร่อย ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัด ข้าวอบต่าง ๆ หรือเคี่ยวเป็นโจ๊ก
ข้าวสังข์หยดพัทลุง ข้าวที่มีกำเนิดอยู่ในจังหวัดพัทลุง เป็นข้าวที่มีเมล็ดเล็ก เรียว ท้ายงอน เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีแดงถึงแดงเข้ม เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวจะนุ่ม และจับตัวกันคล้ายข้าวเหนียว ข้าวสังข์หยดมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ มีเส้นใยสูง ช่วยชะลอความแก่ มีประโยชน์ในการบำรุงโลหิต ป้องกันโรคความจำเสื่อม และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง
**คุณค่าทางโภชนาการหลักๆของข้าวโดยทั่วไปนั้น จะประกอบด้วยสารอาหารดังต่อไปนี้
คุณค่าทางโภชนาการของข้าว
ข้าว ประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
คาร์โบไฮเดรต ข้าวทุกชนิดมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบร้อยละ 70-80 ซึ่งเป็นแป้งเกือบทั้งหมด มีน้ำตาลซูโครส (sucrose) และน้ำตาลเดกซ์ทริน (dextrin) เล็กน้อย
โปรตีน มีโปรตีนไม่มาก อยู่ระหว่างร้อยละ 7-8 ในข้าวเจ้า และร้อยละ 11-12 ในข้าวสาลี
ไขมัน ในข้าวกล้องมีปริมาณไขมันสูงกว่าข้าวชนิดอื่นๆ เพราะข้าวกล้องยังมีส่วนของรำข้าวอยู่ แต่เมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่น ๆ แล้ว ข้าวไม่ใช่แหล่งที่อุดมด้วยสารอาหารจำพวกไขมัน
ใยอาหาร ข้าวกล้องและให้ใยอาหารสูงกว่าข้าวขาว โดยทั่วไปข้าวกล้องจะมีสีน้ำตาลอ่อน คนไทยสมัยก่อนใช้วิธีซ้อมหรือตำด้วยมือ จึงเรียกว่า “ข้าวซ้อมมือ” เป็นข้าวกล้องอย่างหนึ่ง มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง มีใยอาหาร ไขมันและวิตามินบี 1 มากกว่าข้าวชนิดอื่น
วิตามินและแร่ธาตุ ในข้าวกล้องจะมีวิตามินและแร่ธาตุสูงกว่าข้าวขาว ที่เห็นได้ชัดคือ ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุแมกนีเซียม ไนอาซิน และวิตามินบี 1
คุณค่าของข้าวกล้อง
ข้าวกล้องมีสารอาหารครบทุกชนิด องค์ประกอบหลักคือ คาร์โบไฮเดรต เช่นเดียวกับข้าวชนิดอื่น ๆ (ดังตาราง) เมื่อเปรียบเทียบข้าวกล้องกับข้าวขาว พบว่า ข้าวกล้องมีใยอาหารสูงกว่าถึง 3 เท่า ส่วนข้าวขาวนั้นมีการสูญเสียสารอาหารที่มีประโยชน์คือโปรตีน ไขมัน ใยอาหารไประหว่างการขัดสี เหลือแต่คาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่ การขัดสียังทำให้สูญเสียวิตามินและเกลือแร่อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลและสาระดีๆมีประโยชน์จากแหล่งที่มา ดังนี้ :-
- WONGNAI
- KUBOTASOLUTION
- THAICOOPS
- THAIRICEDB
Comments